ถาม-ตอบ
คำถาม : อยากทราบประวัติของตำบลพระเสาร์
ตอบ : ประวัติความเป็นมาโดยย่อของบ้านพระเสาร์
บ้านพระเสาร์ เดิมเป็นบ้านเก่าแก่ของขอม (เขมร) มาตั้งภูลำเนาอยู่เป็นระยะเวลาหลายร้อยปี ขอมก็ได้อพยพหนีไปอยู่แห่งใหม่ มีภาชนะต่างๆ เช่นกระปุกปั้น หม้อ ไห ขุดบึง คูณดินเป็นโนน ขุดครองสิม หนองปู่ตา เป็นหลักฐาน ต่อมามีชนอยู่ 2กลุ่ม คือ
1. อพยพมาจากศรีภูมิ (สุวรรณภูมิ)
2. พวกยือ (ส่วย) อพยพมาจากศรีษะเกษ บ้านโพนข่า โพนวัว ชน 2 กลุ่มได้รวมตัวกันจัดตั้งวัดขึ้นที่โนนหนองสิม เป็นระยะเวลามานาน 1,000 กว่าปี ต่อมามีเจ้าวัดชื่อ หลวงพ่อมุม มีชื่อเล่นว่าหลวงพ่อขี้เถ้าได้พาพระสงมาถางไร่ เพื่อปลูกมันเทศ มันแกวหลวงพ่อก็เลยขุดบ่อน้ำ พระสงฆ์ก็พากันอพยพมาสร้างกุฏิพออยู่ได้ ชาวบ้านเมื่อเห็นพระสงฆ์อพยพมาต่างก็พากันอพยพมาอยู่ด้วย
ในสมัยนั้นได้ข่าวว่า จังหวัดพนมไพรได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้น พระสงฆ์และประชาชนจำนวนมากได้เดินทางผ่านสถานที่หมู่บ้านต่างๆ จุดประสงค์ก็เพื่อนำปัจจัยสิ่งของอันมีค่าดังกล่าวไปสักการบูชาและบรรจุไว้กับองค์พระธาตุ
ขณะนั้น บ้านพระเสาร์ยังไม่มีชื่อบ้านเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ชาวบ้านจำนวน 2 กลุ่ม จึงได้มาประชุมกันว่าจะตั้งชื่อหมู่บ้านว่าอย่างไรดี เลยมีความคิดขึ้นว่า พระสงฆ์ได้ธุดงค์มา “เซา” คำว่า “เซา” เป็นภาษาอิสานแปลว่า “พักผ่อน” จึงได้ตกลงกันให้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ”บ้านพระเซา” ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบ้านพระเสาร์
นานมาแล้วมีคณะสงฆ์จำนวน 500 รูป พร้อมญาติโยมจำนวนมากที่อพยพมาจากบ้านโพนข่า โพนงัว จังหวัดศรีสะเกษ และอพยพมาจากสุวรรณภูมิ มารวมกันเพื่อที่จะเดินทาง โดยได้นำก้อนหินศิลาทรายพร้อมด้วยเงินทองโดยการนำของหลวงปู่ท้าวไปร่วมก่อสร้างพระธาตุพนม (จังหวัดนครพนม ปัจจุบัน) แต่การเดินทางในครั้งนั้นไม่มีรถยนต์ ใช้วัวเทียมเกวียนและใช้คนหาบหามช่วยเหลือกัน ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น ตื่นเช้าก็ออกเดินทางต่อไป ซึ่งในขณะนั้นได้ออกเดินทางจากบ้านประสิว (บ้านคูเมือง ตำบลคูเมืองในปัจจุบัน) ตอนเช้า หลวงปู่ท้าวได้พาคณะสงฆ์ตลอดญาติโยมออกจากที่พักและเดินทางมาพักที่โนนหนองน้ำ เพราะเป็นเวลาพลบค่ำพอดี ตลอดที่พักแห่งนี้ หลวงปู่ท้าวได้ดูสภาพรอบๆ หนองน้ำแล้วเป็นที่เหมาะแก่การตั้งวัดและหมู่บ้าน จึงได้ร่วมปรึกษาหารือกันว่า เมื่อเรามาพบสถานที่อุดมสมบูรณ์แล้วเราควรจะสร้างวัดและตั้งบ้านเรือนให้ญาติโยมได้อาศัย พร้อมสถานที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ทำไปจนถึงลูกหลานก็ใช้ไม่หมด จึงได้พร้อมกันดำเนินการก่อสร้างวัดและสร้างหมู่บ้าน ซึ่งสาเหตุมาจากในขณะที่ปรึกษาหารืออยู่นั้นได้ข่าวจากคณะที่เดินทางไปก่อนหน้านี้ว่า การก่อสร้างพระธาตุพนมได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้นำหินศิลาทรายและวัตถุที่นำมานั้น นำมารวมกันแล้วสร้างเป็นวัดขึ้นที่โนนน้ำแห่งนั้น (ปัจจุบันคือที่ก่อตั้งวัดพระธาตุบุญตา) ส่วนญาติโยมที่ตามมาก็ขอให้เอาไม้บริเวณนั้น ไปสร้างที่อยู่อาศัย โดยมีการแบ่งกันเป็นคุ้มๆ จำนวน 7 คุ้ม เพื่อที่จะดูแลรักษาร่วมกัน เพราะช่วงที่อพยพมาบางแห่งก็ถูกโจรขโมยสิ่งของที่นำมา หลวงปู่ท้าวจึงให้อยู่รวมกันเป็นคุ้มๆ ดังนี้ 1. คุ้มหวงแหน 2. คุ้มโนนขวา 3. คุ้มโนนตาล 4. คุ้มขี้หมา 5. คุ้มโนนทัน 6. คุ้มโนนโพธิ์ 7. คุ้มโนนขี้เหล็ก และตั้งชื่อบ้านขึ้นว่า บ้านพระเซา ในขณะนั้นยังไม่มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านและต่อมาได้ขอตั้งหมู่บ้าน ชื่อว่าบ้านพระเซา ทางอำเภอจึงได้แต่งตั้งตามที่ขอไป เป็นบ้านพระเซา หมู่ที่ 1 และโนนรอบๆบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านพระเซา ได้มีกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ที่ตามมาทีหลัง ก็ได้หยุดตั้งบ้านเรือน และได้ขอตั้งเป็นหมู่บ้านเพิ่มอีก จำนวน 6 หมู่บ้าน ดังนี้1. บ้านพระเซา 2. บ้านปลาปึ่ง 3. บ้านโนนยาง 4. บ้านขาทราย 5. บ้านโนนงิ้ว 6. บ้านหัวดง 7. บ้านแดง
บ้านพระเซาหลังจากที่ได้ขอตั้งหมู่บ้านแล้ว ทางราชการได้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน โดยมีนายเบ้า เวชจำปา เป็นผู้ใหญ่บ้าน และต่อมาได้มีการเลือกบ้านพระเซา เป็นตำบลพระเซา โดยนายเบ้า เวชจำปา เป็นกำนันตำบลพระเซา โดยเป็นคนแรกของตำบล เมื่อปี พ.ศ. ........... และต่อมาได้มีการเลือกกำนันตำบลพระเซา โดยมีนายสังข์ พวงพันธ์ เป็นกำนันคนที่สอง นายพรหม โสระมรรค เป็นกำนันคนที่สาม ในช่วงที่นายพรหม โสระมรรค ทำหน้าที่เป็นกำนั้น นั้น การเรียกชื่อตำบลพระเซา ก็ได้เปลี่ยนเป็นตำบลพระเสาร์ ตามที่ชาวบ้านเรียกชื่อมาตามลำดับ นายมนู ก้อนคำ เป็นกำนันคนที่สี่ นายผ่าน วิชาพูล เป็นกำนันคนที่ห้า นายออน ธรรมรักษ์ เป็นกำนันคนที่หก นายสมปอง ผันผาย เป็นกำนันคนที่เจ็ด และนายชัยวัฒน์ ตะเคียน เป็นกำนันตำบลพระเสาร์ จนถึงปัจจุบัน
บ้านพระเสาร์ ในช่วงที่กำนันผ่าน วิชาพูล ดำรงตำแหน่งนั้น ได้ขอแยกหมู่บ้านพระเสาร์ ออกเป็นหมู่ที่ 8 ทางราชการจึงอนุมัติให้แยกได้ โดยนายหาญ สิงห์คำ ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 และมีนายประดิษฐ์ โสสะ เป็นผู้ใหญ่บ้านพระเสาร์ หมู่ที่ 8 (คนปัจจุบัน)
ด้านการปกครอง
ตำบลพระเสาร์ เป็นตำบลติดเขตของจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดศรีสะเกษ มีเส้นทางการคมนาคมเชื่อมกันตลอดและการสัญจรไปมาสะดวก ถึงจะเป็นตำบลที่อยู่แนวเขตการติดต่อของสองจังหวัด ทำให้ประชาชนของตำบลพระเสาร์ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การค้าขาย ความสัมพันธ์ด้านการศึกษา การพัฒนา การประกอบอาชีพ ถือได้ว่าตำบลพระเสาร์ ได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งอุปนิสัยของประชาชน มีการเสียสละ อ่อนน้อมถ่อมตน คบง่าย ไม่ถือตัว และพร้อมเป็นมิตรกับทุกชุมชน
ในช่วงปี 2535 ทางราชการได้ให้อำนาจของตำบลพระเสาร์ ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาตนเอง โดยที่กำนันตำบลพระเสาร์ และผู้ใหญ่บ้านพร้อมด้วยผู้แทนของชาวบ้านที่เลือกเข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาตำบล หมู่บ้านละ 1 คน เข้ามาทำหน้าที่แทนชุมชน เพื่อวางแผนการพัฒนาตำบลของตัวเองให้ได้รับความเจริญ ทัดเทียมตำบลข้างเคียง โดยท่านนายอำเภอนั้น คอยกำกับดูแลร่วมกับพัฒนาการอำเภอ เป็น พี่เลี้ยงให้ ช่วงนายออน ธรรมรักษ์ เป็นกำนัน และทำหน้าที่เป็นประธานคณะสภาตำบล โดยทำหน้าที่คราวละ 4 ปี ก็ให้มีการเลือกผู้แทนหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาหมู่บ้านละ 1 คน ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน แพทย์ประจำตำบล 1 คน ร่วมเป็นคณะสภาตำบล มีนายพยงค์ โสภา ตำแหน่งครูใหญ่ โรงเรียนบ้านพระเสาร์ ทำหน้าที่เลขานุการ และต่อมานายออน ธรรมรักษ์ ได้ครบวาระการเป็นกำนัน ชาวบ้านได้เลือกนายสมปอง ผันผาย เป็นกำนันตำบลพระเสาร์ต่อ และได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหาร ในปี พ.ศ. 2540 - 11 พ.ค. 2544 โดยมีนายธำรง เติมทรัพย์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านพระเสาร์ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาตำบล เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลพระเสาร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 – 2552 และได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลพระเสาร์ เข้ามาเป็นตัวแทนชาวบ้านมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ พร้อมได้ดำเนินการเลือก นายแพงศรี แสนโคตร เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพระเสาร์ เป็นผู้บริหาร พร้อมมีปลัดอรุณรัชช์ พรมนอก เป็นเลขานุการ ทำให้ตำบลพระเสาร์ได้รับความเจริญในทุกๆด้าน ประชาชนอยู่ดี เป็นสุข การศึกษาก้าวหน้า ประชาชนมีอาชีพ สร้างรายได้สู่ครอบครัว ดังคำขวัญตำบลพระเสาร์ ที่ว่า
พระธาตุบุญตางามเด่น สงบเย็นหนองบัวแดง
ธรรมชาติแหล่งฝูงลิง งามยิ่งผ้าไหมไทย
ฝักใฝ่สัจจะธรรม ก้าวล้ำเศรษฐกิจ
ข้าวขาวหอมมะลิ ประเพณีแห่บั้งไฟ
ตำบลพระเสาร์ มีสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สักการะของชุมชนและผู้พบเห็น คือพระธาตุบุญตาที่วัดพระธาตุบุญตา และทุกปีชาวบ้านพระเสาร์ทั้ง 2 หมู่บ้าน ร่วมกับชุมชนต่างๆ จัดงานนมัสการ พระธาตุบุญตาทุกปี และสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่บ้านปลาปึ่ง ก่อนจะถึงบ้านพระเสาร์ยังมีฝูงลิงซึ่งถือได้ว่าตำบลพระเสาร์มีตำบลในเขตอำเภอมหาชนะชัย ที่มีฝูงลิงอยู่เป็นจำนวนมาก และองค์การบริหารส่วนตำบลพระเสาร์ ได้จัดงานประเพณีเลี้ยงโต๊ะจีนลิง ซึ่งถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการอนุรักษ์เชิงท่องเที่ยวของตำบลพระเสาร์ ส่วนอีกสถานที่แห่งหนึ่ง คือ วัดป่าหนองบัวแดง ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 บ้าน พระเสาร์ ซึ่งเป็นวัดสายวัดหนองป่าพง สาขาที่ 140 เป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดงานปฏิบัติธรรมในทุกๆ ปี อีกทั้งปัจจุบัน ทางวัดได้ก่อสร้างอุโบสถสองชั้น ซึ่งถือได้ว่า เป็นอุโบสถที่มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ในเขตตำบลพระเสาร์มีป่าสงวนอยู่ในพื้นที่ มีเนื้อที่พันกว่าไร่ ซึ่งภายในป่าสงวนถือเป็นป่าเศรษฐกิจของชุมชน โดยในหน้าแล้งชาวบ้านก็ออกหาแมลงขาย หน้าฝนก็พากันเก็บเห็ดมาขายซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี และชาวบ้านในเขตตำบลพระเสาร์ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล จัดกิจกรรมปลูกป่าเพื่อทดแทนป่าที่ตาย เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและช่วยกันดูแลผืนป่าแห่งนี้ เป็นอย่างดี ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ได้สนับสนุนงบประมาณในการดูแล บำรุงรักษาทุกปี ตลอดจนการประสานงานฝ่ายปกครองตำบลพระเสาร์ทุกหมู่บ้านและส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การสนับสนุน ดูแลรักษาป่า ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับกรม ตามลำดับ
คำถาม : อยากทราบวิสัยทัศน์ของ อบต.
ตอบ : “สาธารณูปโภคก้าวไกล ใส่ใจการคมนาคม อุดมด้วยแหล่งน้ำ งามล้ำประเพณี สู่วิถีความพอเพียง”
คำถาม : สามารถติดต่อได้ทางช่องทางใดบ้าง
ตอบ : 1. สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลพระเสาร์ หมู่ที่ 1 บ้านพระเสาร์ ตำบลพระเสาร์ อำเภอมหาชนะชัย
จังหวัดยโสธร
2. ทาง https://www.phrasao.go.th
3. ทาง เพจ facebook องค์การบริหารส่วนตำบลพระเสาร์
https://www.facebook.com/1784040691908638/
4. ทาง ไลน์ https://line.me/R/ti/g/nS6n8CZej9
5. โทรศัพท์/โทรสาร 0 4597 0290